ข้อบังคับสมาคมนักบัญชีไทย
หมวดที่ ๑
ความทั่วไป
ข้อ ๑. สมาคมนี้มีชื่อว่า สมาคมนักบัญชีไทย (สนท) เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Thai Accountant Association (TAA)
ข้อ ๒. “เครื่องหมายของสมาคมมีลักษณะเป็น
รูปหกเหลี่ยม มีความยาวด้านเท่ากันทุกด้าน และขนาดมุมเท่ากันทุกมุม ประกอบไปด้วย 3 สี ได้แก่ สีทอง สีขาว และสีน้ำเงิน ความหมายแห่งสี มีความหมายดังนี้ สีทอง หมายถึง ความเจริญรุ่งเรือง ความสำเร็จในชีวิต อำนาจ มิตรภาพ และการมองโลกในแง่ดี
สีน้ำเงิน หมายถึง ปัญญาความรู้ ความมั่นคง ความมีระเบียบ ความจริง ความสุขุม ความเชื่อถือ
สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์ ส่งเสริมให้จิตใจสะอาดบริสุทธิ์ ยุติธรรม เที่ยงธรรม ปราศจากมลทิน
ข้อ ๓. สำนักงานของสมาคมตั้งอยู่ ณ บ้านเลขที่ 99/209 ซอยแจ้งวัฒนะ12 แยก 4-7-4-1 แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10210
ข้อ ๔. วัตถุประสงค์ของสมาคม เพื่อ
( ๑ ) เพื่อให้บริการความรู้ด้านบัญชีและภาษีอากรแก่สมาชิกและบุคคลทั่วไป
( ๒ ) เพื่อส่งเสริมและปลูกฝังจริยธรรมของนักบัญชีไทย เพื่อให้วิชาชีพบัญชีเป็นวิชาชีพที่มีเกียรติ
( ๓ ) เพื่อเป็นศูนย์สร้างสานสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนสมาชิก
( ๔ ) เพื่อเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของสมาชิก
(๕ ) เพื่อเป็นตัวแทนของสมาชิกในการติดต่อ แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กับองค์กรอื่นทางด้านบัญชีและภาษี
( ๖ ) เพื่อเข้าร่วมกับองค์กรภาครัฐและภาคเอกชนในการดำเนินการใดๆ ที่จะทำให้เกิดประโยชน์ กับสังคมและสมาชิก
( ๗ ) สมาคมไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่ประการใด
หมวดที่ ๒
สมาชิก
ข้อ ๕ สมาชิกของสมาคม มี 3 ประเภท คือ
( ๑ ) สมาชิกสามัญ ได้แก่ ผู้มีสัญชาติไทย อายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ และสำเร็จการศึกษาในระดับไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี หรือได้รับประกาศนียบัตร หรือวุฒิอื่นเทียบเท่าปริญญาตรีสาขาบัญชีที่สมาคมกำหนด
( ๒ ) สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ บุคคลผู้ทรงเกียรติ หรือทรงคุณวุฒิ หรือผู้มีอุปการคุณแก่สมาคม ซึ่งคณะกรรมการลงมติให้เชิญเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมโดยสมาชิกประเภทนี้ไม่ต้องชำระค่าจดทะเบียนและค่าบำรุงสมาคม
( ๓ ) สมาชิกวิสามัญ ได้แก่ บุคคลทั่วไปที่มีความสนใจในกิจการของสมาคม
ข้อ ๖ สมาชิกสามัญและสมาชิกวิสามัญจะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
( ๑ ) เป็นผู้มีความประพฤติเรียบร้อย
( ๒ ) ไม่เป็นโรคที่สังคมรังเกียจ
( ๓ ) ไม่ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย หรือไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ หรือต้องโทษจำคุก ยกเว้นความผิดฐานประมาท หรือลหุโทษ การต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดดังกล่าว จะต้องเป็นในขณะที่สมัครเข้าเป็นสมาชิกหรือในระหว่างที่เป็นสมาชิกของสมาคมนั้น
( ๔ ) เป็นบุคคลที่คณะกรรมการได้มีมติให้สมัครเข้าเป็นสมาชิก และเสียค่าจดทะเบียนและค่าบำรุงสมาคมตามที่คณะกรรมการกำหนดแล้ว
ข้อ ๗ ค่าลงทะเบียน และค่าบำรุงสมาคม
( ๑ ) สมาชิกสามัญ จะต้องเสียค่าบำรุงสมาคมเป็นรายปี ๆ ละ ๓๐๐ (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) บาท
( ๒ ) สมาชิกกิตติมศักดิ์ มิต้องเสียค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาคมแต่อย่างใดทั้งสิ้น
( ๓ ) สมาชิกวิสามัญ จะต้องเสียค่าบำรุงเป็นรายปี ๆ ละ ๓๐๐ (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) บาท
ข้อ ๘ การสมัครสมาชิกของสมาคม ให้ผู้ประสงค์จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม ยื่น ใบสมัครตามแบบสมาคมต่อนายทะเบียน และให้นายทะเบียนนำใบสมัคร เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาการสมัครแล้ว เมื่อคณะกรรมการลงมติให้รับผู้ใดแล้ว ให้นายทะเบียนเป็นผู้แจ้งให้ผู้สมัครทราบโดยเร็ว
ข้อ ๙ ถ้าคณะกรรมการพิจารณาอนุมัติให้รับผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิก ก็ให้ผู้สมัครนั้นชำระเงินค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาคมให้เสร็จภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากนายทะเบียนและสมาชิกภาพของผู้สมัคร ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ผู้สมัครได้ชำระเงินค่าลงทะเบียน และค่าบำรุงสมาคมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ถ้าผู้สมัครไม่ชำระเงินค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงภายในกำหนดเวลา ก็ให้ถือว่าการสมัครคราวนั้นเป็นอันยกเลิก “เว้นแต่ได้รับการยกเว้นจากมติคณะกรรมการเป็นกรณีพิเศษ ให้ถือว่าการสมัครนั้นเป็นอันสมบูรณ์ตามมติคณะกรรมการ”
ข้อ ๑๐ สมาชิกภาพของสมาชิกกิตติมศักดิ์ ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่หนังสือตอบรับคำเชิญของผู้ที่คณะกรรมการได้พิจารณาลงมติให้เชิญเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม ได้มาถึงยังสมาคม
ข้อ ๑๑ สมาชิกภาพของสมาชิกให้สิ้นสุดลงด้วยเหตุดังต่อไปนี้
( ๑ ) ตาย
( ๒ ) ลาออก โดยยื่นหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรต่อคณะกรรมการ และคณะกรรมการได้พิจารณาอนุมัติ และสมาชิกผู้นั้นได้ชำระหนี้สินที่ยังติดค้างอยู่กับสมาคมเป็นที่เรียบร้อย
( ๓ ) ขาดคุณสมบัติสมาชิก
( ๔ ) ที่ประชุมใหญ่ของสมาคม หรือคณะกรรมการได้พิจารณาลงมติให้ลบชื่อออกจากทะเบียนเพราะสมาชิกผู้นั้นได้ประพฤตินำความเสื่อมเสียมาสู่สมาคม
ข้อ ๑๒ สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก
( ๑ ) มีสิทธิเข้าใช้สถานที่ของสมาคมโดยเท่าเทียมกัน
( ๒ ) มีสิทธิเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการของสมาคมต่อคณะกรรมการ
( ๓ ) มีสิทธิได้รับสวัสดิการต่าง ๆ ที่สมาคม ได้จัดให้มีขึ้น
( ๔ ) มีสิทธิเข้าร่วมประชุมใหญ่ของสมาคม
( ๕ ) สมาชิกสามัญมีสิทธิในการเลือกตั้ง หรือได้รับการเลือกตั้งหรือแต่งตั้งเป็นกรรมการสมาคม และมีสิทธิออกเสียงลงมติต่างๆ ในที่ประชุมได้คนละ ๑ คะแนนเสียง
( ๖ ) มีสิทธิร้องขอต่อคณะกรรมการ เพื่อตรวจสอบเอกสารและบัญชีทรัพย์สินของสมาคม
( ๗ ) มีสิทธิเข้าชื่อร่วมกันอย่างน้อย ๑ ใน ๕ ของสมาชิกสามัญทั้งหมด หรือสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่า ๕๐ คน ทำหนังสือร้องขอต่อคณะกรรมการให้จัดประชุมใหญ่วิสามัญได้
( ๘ ) มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามจรรยาบรรณวิชาชีพ และข้อบังคับของสมาคมอย่างเคร่งครัด
( ๙ ) มีหน้าที่ประพฤติตนให้สมกับเกียรติที่เป็นสมาชิกของสมาคม
( ๑๐ ) มีหน้าที่ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินกิจการต่าง ๆ ของสมาคม
( ๑๑ ) มีหน้าที่ร่วมกิจกรรมที่สมาคมได้จัดให้มีขึ้น
( ๑๒ ) มีหน้าที่ช่วยเผยแพร่ชื่อเสียงของสมาคมให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย
หมวดที่ ๓
การดำเนินกิจการสมาคม
ข้อ ๑๓ “ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง ทำหน้าที่บริหารกิจการของสมาคม มีจำนวนอย่างน้อย ๙ คน อย่างมากไม่เกิน ๑๕ คน ทั้งนี้ ในการประชุมเพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการแต่ละวาระให้ที่ประชุมใหญ่กำหนดจำนวนกรรมการแต่ละวาระและให้ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งกันเองเป็นนายกสมาคมจำนวน ๑ คน และอุปนายก จำนวน ๒ คน สำหรับตำแหน่งกรรมการในตำแหน่งอื่น ๆ ให้นายกสมาคมเป็นผู้แต่งตั้ง ผู้ได้รับเลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่เข้าดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ของสมาคม ตามที่ได้กำหนดไว้
การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งกรรมการ ให้ใช้วิธีทำเครื่องหมายกากบาท (x) ลงในช่องทำเครื่องหมายบนบัตรเลือกตั้ง และหย่อนบัตรเลือกตั้งลงในหีบบัตรเลือกตั้งด้วยตนเอง หรือวิธีการอื่นใดที่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่ ซึ่งตำแหน่งของกรรมการสมาคมมีตำแหน่งและหน้าที่โดยสังเขป ดังนี้”
( ๑ ) นายกสมาคม ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าการบริหารกิจการของสมาคม เป็นผู้แทนสมาคมในการติดต่อกับบุคคลภายนอกและทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมคณะกรรมการ และการประชุมใหญ่ของสมาคม
( ๒ ) อุปนายก ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยนายกสมาคมในการบริหารกิจการของสมาคม ปฏิบัติหน้าที่ตามที่นายกสมาคมได้มอบหมายและทำหน้าที่แทนนายกสมาคมเมื่อนายกสมาคมไม่อยู่ หรือไม่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ได้ แต่การทำหน้าที่แทนนายกสมาคม ให้อุปนายกสมาคมตามลำดับตำแหน่งเป็นผู้กระทำการแทน
( ๓ ) เลขานุการ ทำหน้าที่เกี่ยวกับงานธุรการของสมาคมทั้งหมด เป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ของสมาคมในการปฏิบัติกิจการของสมาคม และปฏิบัติตามคำสั่งของนายกสมาคม ตลอดจนทำหน้าที่เป็นเลขานุการในการประชุมต่าง ๆ ของสมาคม
( ๔ ) เหรัญญิก มีหน้าที่เกี่ยวกับการเงินทั้งหมดของสมาคม เป็นผู้จัดทำบัญชีรายรับ รายจ่าย บัญชีงบดุลของสมาคม และเก็บเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ของสมาคมไว้เพื่อตรวจสอบ
( ๕ ) ปฏิคม มีหน้าที่ในการให้การต้อนรับแขกของสมาคม เป็นหัวหน้าในการจัดเตรียมสถานที่ของสมาคม และจัดเตรียมสถานที่ประชุมต่าง ๆ ของสมาคม
( ๖ ) นายทะเบียน มีหน้าที่เกี่ยวกับทะเบียนสมาชิกทั้งหมดของสมาคม ประสานงานกับเหรัญญิกในการเรียกเก็บเงินค่าบำรุงสมาคมจากสมาชิก
( ๗ ) ประชาสัมพันธ์ มีหน้าที่เผยแพร่กิจการและชื่อเสียงเกียรติคุณของสมาคมให้สมาชิกและบุคคลโดยทั่วไปให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย
( ๘ ) กรรมการตำแหน่งอื่น ๆ ตามความเหมาะสม ซึ่งคณะกรรมการเห็นสมควรกำหนดให้มีขึ้นโดยมีจำนวนเมื่อรวมกับตำแหน่งกรรมการข้างต้นแล้ว จะต้องไม่เกินจำนวนที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้ แต่ถ้าคณะกรรมการมิได้กำหนดตำแหน่งก็ถือว่าเป็นกรรมการกลาง คณะกรรมการชุดแรก ให้ผู้เริ่มการจัดตั้งสมาคมเป็นผู้จัดการเลือกตั้ง ประกอบด้วย นายกสมาคม และกรรมการอื่น ๆ ตามจำนวนที่เห็นสมควรตามข้อบังคับของสมาคม
ข้อ ๑๔ “คณะกรรมการของสมาคมสามารถอยู่ในตําแหน่งได้คราวละ ๒ ปี สําหรับตําแหน่งนายกสมาคม ดํารงตําแหน่งต่อเนื่องได้ไม่เกิน ๒ วาระ” เมื่อคณะกรรมการอยู่ในตําแหน่งครบกําหนดตามวาระแล้ว แต่ คณะกรรมการชุดใหม่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการ ก็ให้คณะกรรมการที่ครบกําหนดตาม วาระรักษาการไปพลางก่อน จนกว่าคณะกรรมการชุดใหม่จะได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการ และเมื่อคณะกรรมการชุดใหม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ให้ทำการส่ง และรับมอบงานกันระหว่างคณะกรรมการชุดเก่าและคณะกรรมการชุดใหม่ ให้เป็นที่เสร็จสิ้นภายใน ๓๐ วัน นับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการชุดใหม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการ
ข้อ ๑๕ “เมื่อนายกสมาคมพ้นจากตําแหน่งก่อนครบกําหนดตามวาระไม่ว่าด้วยกรณีใด การเลือกตั้งตําแหน่ง นายกสมาคม ให้นําข้อ ๑๓ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ตําแหน่งกรรมการสมาคมว่างลงก่อนครบกําหนดตามวาระก็ให้คณะกรรมการแต่งตั้งสมาชิกสามัญ คนใดคนที่หนึ่งเห็นสมควรเข้าดํารงตําแหน่งแทนตําแหน่งที่ว่าง
วาระการดํารงตําแหน่งตามข้อ ๑๕ เท่ากับวาระที่เหลืออยู่”
ข้อ ๑๖ กรรมการอาจพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งมิใช่เป็นการออกตามวาระด้วยเหตุผลต่อไปนี้ คือ
( ๑ ) ตาย
( ๒ ) ลาออก
( ๓ ) ขาดจากสมาชิกภาพ
( ๔ ) ที่ประชุมใหญ่ลงมติให้ออกจากตำแหน่ง
( ๕ ) คณะกรรมการลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ออกจากตำแหน่ง
ข้อ ๑๗ กรรมการที่ประสงค์จะลาออกจากตำแหน่งกรรมการให้ยื่นใบลาออกเป็นลายลักษณ์อักษรต่อนายกสมาคม และให้พ้นจากตำแหน่งเมื่อคณะกรรมการมีมติให้ออก
ข้อ ๑๗/๑ การลงมติให้กรรมการออกจากตำแหน่ง คณะกรรมการต้องมีมติเป็นเอกฉันท์ ๒ ครั้งติดต่อกัน โดยการประชุมครั้งหลังต้องห่างจากการประชุมครั้งแรกไม่น้อยกว่า ๑๕ วัน และไม่เกิน ๔๕ วัน และองค์ประชุมต้องมีกรรมการเข้าประชุมไม่น้อยกว่า ๓ ใน ๔ ของจำนวนกรรมการที่เหลืออยู่
ข้อ ๑๗/๒ เมื่อมีมติที่ประชุมคณะกรรมการให้กรรมการออกจากตำแหน่ง ตามข้อ ๑๖ (๔) ให้ดำเนินการดังนี้
(๑) ให้ติดประกาศมติดังกล่าวไว้ที่ทำการของสมาคม
(๒) ส่งเป็นหนังสือตอบรับให้คณะกรรมการและประธานคณะอนุกรรมการทุกคนทราบภายใน ๑๕ วันนับแต่วันมีมติ
ข้อ ๑๗/๓ ภายหลัง ๔๕ วันนับแต่มีมติครั้งหลังตามข้อ ๑๗/๒ หากไม่มีผู้ใดคัดค้านให้ถือตามมติดังกล่าว
ข้อ ๑๗/๕ การคัดค้านมติคณะกรรมการ ข้อ ๑๖ (๕) ให้สมาชิกเข้าชื่อกันไม่น้อยกว่า๑ ใน ๒๐ ของจำนวนสมาชิกสามัญทั้งหมด หรือจำนวนสมาชิกสามัญไม่น้อยกว่า ๒๕ คนยื่นหนังสือคัดค้านเป็นลายลักษณ์อักษร ต่อนายกสมาคม”
ข้อ ๑๘ อำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการ
( ๑ ) มีอำนาจออกระเบียบปฏิบัติต่าง ๆ เพื่อให้สมาชิกได้ปฏิบัติ โดยระเบียบปฏิบัตินั้นจะต้องไม่ขัดต่อข้อบังคับฉบับนี้
( ๒ ) มีอำนาจแต่งตั้งและถอดถอนเจ้าหน้าที่ของสมาคม
( ๓ ) มีอำนาจแต่งตั้งกรรมการที่ปรึกษา หรืออนุกรรมการได้ แต่กรรมการที่ปรึกษาหรืออนุกรรมการ จะสามารถอยู่ในตำแหน่งได้ไม่เกินวาระของคณะกรรมการที่แต่งตั้ง
( ๔ ) มีอำนาจเรียกประชุมใหญ่สามัญประจำปี และประชุมใหญ่วิสามัญ
( ๕ ) มีอำนาจแต่งตั้งกรรมการในตำแหน่งอื่น ๆ ที่ยังมิได้กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้
( ๖ ) มีอำนาจบริหารกิจการของสมาคม เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ตลอดจนมีอำนาจอื่น ๆ ตาม ข้อบังคับที่กำหนดไว้
( ๗ ) มีหน้าที่ในการบริหารกิจการทั้งหมด รวมทั้งการเงิน และทรัพย์สินทั้งหมดของสมาคม
( ๘ ) มีหน้าที่จัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญ ตามที่สมาชิกสามัญจำนวน ๑ ใน ๕ ของสมาชิกทั้งหมด ได้ เข้าชื่อร้องขอให้จัดประชุมใหญ่วิสามัญขึ้นภายใน ๓๐ วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือร้องขอ
( ๙ ) มีหน้าที่จัดทำเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ทั้งที่เกี่ยวกับเงิน ทรัพย์สินและการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของสมาคมให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ และสามารถจะให้สมาชิกตรวจดูได้เมื่อสมาชิกร้องขอ
( ๑๐ ) จัดทำบันทึกการประชุมต่าง ๆ ของสมาคม เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานและจัดส่งให้สมาชิกได้รับทราบ
( ๑๑ ) คณะกรรมการอาจแต่งตั้งอนุกรรมการสำหรับกิจการงานของสมาคมได้ และมีอำนาจในการจัดตั้งสำนักงานตัวแทนประจำจังหวัด/ประจำภาคตามแต่เห็นสมควรได้
( ๑๒ ) มีหน้าที่อื่น ๆ ตามที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้
( ๑๓ ) มีอำนาจลงมติให้กรรมการออกจากตำแหน่ง”
( ๑๔ ) มีอํานาจแต่งตั้งที่ปรึกษาสมาคม”
ข้อ ๑๙ คณะกรรมการจะต้องประชุมกันอย่างน้อย ๓ เดือนต่อ ๑ ครั้ง ทั้งนี้เพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับการบริหารกิจการของสมาคมโดยให้เลขาธิการเป็นผู้นัดเชิญประชุม
ข้อ ๒๐ การประชุมคณะกรรมการ จะต้องมีกรรมการเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมด จึงถือว่าครบองค์ประชุม มติของที่ประชุมคณะกรรมการ ถ้าข้อบังคับมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ก็ให้ถือคะแนนเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ แต่ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันก็ให้ประธานในการประชุมเป็นผู้ชี้ขาด
ข้อ ๒๑ ในการประชุมคณะกรรมการ ถ้านายกสมาคม และอุปนายกสมาคมไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ก็ให้คณะกรรมการที่เข้าประชุมในคราวนั้นเลือกตั้งกันเองเพื่อให้กรรมการคนใดคนหนึ่งทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมคราวนั้น
หมวดที่ ๔
การประชุมใหญ่
ข้อ ๒๒ การประชุมใหญ่ของสมาคมมี ๒ ชนิด คือ
( ๑ ) ประชุมใหญ่สามัญ
( ๒ ) ประชุมใหญ่วิสามัญ
ข้อ ๒๓ คณะกรรมการจะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ๆ ละ ๑ ครั้ง ภายในเดือน พ.ย. ของทุก ๆ ปี
ข้อ ๒๔ การประชุมใหญ่วิสามัญ อาจมีขึ้นได้ก็โดยเหตุที่คณะกรรมการเห็นสมควรจัดให้มีขึ้น หรือเกิดขึ้นด้วยการเข้าร่วมกันของสมาชิกไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๕ ของสมาชิกทั้งหมดหรือสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่า ๑๐๐ คน ทำหนังสือร้องขอต่อคณะกรรมการให้จัดให้มีขึ้น
ข้อ ๒๕ การแจ้งกำหนดนัดประชุมใหญ่ ให้เลขานุการเป็นผู้แจ้งกำหนดนัดประชุมใหญ่ให้สมาชิกได้ทราบและการแจ้งจะต้องแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร โดยระบุวัน เวลา และสถานที่ให้ชัดเจน โดยจะต้องแจ้งให้สมาชิกได้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๗ วัน และประกาศแจ้งกำหนดนัดประชุมไว้ ณ สำนักงานของสมาคมเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๗ ก่อนถึงกำหนดการประชุมใหญ่
ข้อ ๒๖ การประชุมใหญ่สามัญประจำปี จะต้องมีวาระการประชุมอย่างน้อยดังต่อไปนี้
( ๑ ) แถลงกิจการในรอบปีที่ผ่านมา
( ๒ ) แถลงบัญชีรายรับ รายจ่าย และบัญชีงบดุลของปีที่ผ่านมาให้สมาชิกรับทราบ
( ๓ ) เลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ เมื่อครบกำหนดวาระ
( ๔ ) แต่งตั้งผู้สอบบัญชี
( ๕ ) เรื่องอื่น ๆ ถ้ามี
ข้อ ๒๗ ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี หรือการประชุมใหญ่วิสามัญจะต้องมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของสมาชิกสามัญทั้งหมด หรือสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่า ๑๐๐ คน จึงจะถือว่าครบองค์ประชุม แต่ถ้าเมื่อถึงกำหนดเวลาประชุมยังมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่ครบองค์ประชุมให้คณะกรรมการของสมาคมเรียกประชุมใหญ่อีกครั้งหนึ่งโดยจัดให้มีการประชุมขึ้นภายใน ๑๔ วัน นับแต่วันที่นัดประชุมครั้งแรก สำหรับการประชุมในครั้งหลังนี้ ถ้ามีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมเป็นจำนวนเท่าใด ก็ให้ถือว่าครบองค์ประชุมยกเว้นถ้าเป็นการประชุมใหญ่วิสามัญที่เกิดขึ้นจากการร้องขอของสมาชิก ก็ไม่ต้องจัดประชุมใหญ่ให้ถือว่าการประชุมเป็นอันยกเลิก
ข้อ ๒๘ การลงมติต่าง ๆ ในที่ประชุมใหญ่ ถ้าข้อบังคับได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ก็ให้ถือคะแนนเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ แต่ถ้าคะแนนเสียงที่ลงมติมีคะแนนสียงเท่ากัน ก็ให้ประธานในการประชุมเป็นผู้ชี้ขาด
ข้อ ๒๙ ในการประชุมใหญ่ของสมาคม ถ้านายกสมาคมและอุปนายกสมาคมไม่มาร่วมประชุม หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ก็ให้ที่ประชุมใหญ่ทำการเลือกตั้งกรรมการที่มาร่วมประชุมคนใดคนหนึ่ง ให้ทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมคราวนั้น
หมวดที่ ๕
การเงินและทรัพย์สิน
ข้อ ๓๐ การเงินและทรัพย์สินทั้งหมดให้อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการ เงินสดของสมาคม ถ้ามีให้นำฝากไว้กับธนาคารหรือสถาบันการเงินที่รัฐบาลรับรองแล้วแต่คณะกรรมการจะพิจารณาเห็นสมควร
ข้อ ๓๑ การลงนามในตั๋วเงินหรือเช็คของสมาคม จะต้องมีลายมือชื่อของนายกสมาคมหรือผู้ทำการแทน ลงนามร่วมกับเหรัญญิกหรือเลขานุการ พร้อมกับประทับตราของสมาคม (ถ้ามี) จึงจะถือว่าใช้ได้
ข้อ ๓๒ ให้นายกสมาคมมีอำนาจสั่งจ่ายเงินของสมาคมได้ครั้งละไม่เกิน 50,000 บาท( ห้าหมื่นบาทถ้วน) ถ้าเกินกว่านั้นจะต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการและคณะกรรมการจะอนุมัติให้จ่ายเงินได้ครั้งละไม่เกิน250,000 บาท (สองแสนห้าหมื่นบาทถ้วน ) ถ้าจำเป็นจะต้องจ่ายเกินกว่านี้ ต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่ของสมาคม “ยกเว้นค่าใช้จ่ายในการจัดการอบรมสัมมนา ค่าใช้จ่ายในการจัดการประชุมใหญ่สามัญ/วิสามัญ ให้จ่ายตามความเป็นจริง”
ข้อ ๓๓ ให้เหรัญญิก มีอำนาจเก็บรักษาเงินสดของสมาคมได้ไม่เกิน 30,000 บาท( สามหมื่นบาทถ้วน ) ถ้าเกินกว่าจำนวนนี้ จะต้องนำฝากธนาคารในบัญชีของสมาคมทันทีที่โอกาสอำนวยให้
ข้อ ๓๔ เหรัญญิก จะต้องดูแลการจัดทำบัญชีรายรับ รายจ่าย และบัญชีงบดุล ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการการรับหรือจ่ายเงินทุกครั้งจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อของนายกสมาคมหรือผู้ทำการแทนร่วมกับเหรัญญิกหรือผู้ทำการแทน พร้อมกับประทับตราของสมาคม(ถ้ามี) ทุกครั้ง
หมวดที่ ๖
ผู้สอบบัญชี
ข้อ ๓๕ ผู้สอบบัญชี จะต้องมิใช่กรรมการหรือเจ้าหน้าที่ของสมาคม และจะต้องเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตที่ใบอนุญาตไม่หมดอายุหรือถูกเพิกถอน
ข้อ ๓๖ ให้ที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งผู้สอบบัญชีทุกปี พร้อมทั้งกำหนดค่าตอบแทน ผู้สอบบัญชีคนใดคนหนึ่งซึ่งเคยเป็นผู้สอบบัญชีของสมาคมในปีก่อนจะได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้สอบบัญชีของสมาคมในปีต่อมาอีกก็ได้
ข้อ ๓๗ ผู้สอบบัญชี มีอำนาจหน้าที่จะเรียกเอกสารที่เกี่ยวกับการเงินและทรัพย์สินจากคณะกรรมการ และสามารถจะเชิญกรรมการ หรือเจ้าหน้าที่ของสมาคมเพื่อสอบถาม เกี่ยวกับบัญชีและทรัพย์สินของสมาคมได้
ข้อ ๓๘ คณะกรรมการจะต้องให้ความร่วมมือกับผู้สอบบัญชี เมื่อได้รับการร้องขอ
หมวดที่ ๗
การเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับ
ข้อ ๓๙ ข้อบังคับของสมาคมจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้โดยมติของที่ประชุมใหญ่เท่านั้น และองค์ประชุมใหญ่จะต้องมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของสมาชิกสามัญทั้งหมด หรือสมาชิกจำนวน ๒๐ คน จึงครบองค์ประชุม มติของที่ประชุมใหญ่ในการเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับ จะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า ๒ ใน ๓ ของสมาชิกสามัญที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมด
หมวดที่ ๘
การเลิกสมาคม
ข้อ ๔๐ การเลิกสมาคมจะเลิกได้ก็โดยมติของที่ประชุมใหญ่ของสมาคมซึ่งองค์ประชุมใหญ่ จะต้องมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของสมาชิกสามัญทั้งหมด หรือสมาชิกจำนวน ๑๐๐ คน จึงครบองค์ประชุม ยกเว้นเป็นการเลิกเพราะเหตุของกฎหมาย มติของที่ประชุมใหญ่ที่ให้เลิกสมาคมจะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า ๓ ใน ๔ ของสมาชิกสามัญที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมด
ข้อ ๔๑ เมื่อสมาคมต้องเลิก ไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ก็ตาม ทรัพย์สินของสมาคมที่เหลืออยู่หลังจากที่ได้ชำระบัญชีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของกรมสรรพากร